เกียร์ 6 ฉบับ 1,000 มร.โนริยุกิ ทาคาคุระ วันนี้แตกต่างจากวันวาน

เป็นเรื่องที่เขียนซ้ำซาก ทุกครั้งที่ “เกียร์ 6” ต้องเขียนถึง “นายญี่ปุ่น” ของคนฮอนด้า และเป็นเรื่องที่ยากจะปฏิเสธอีกด้วยว่า “รถยนต์ฮอนด้า” มีการขยับตัวที่น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นข่าวของผลิตภัณฑ์ หรือข่าวของ “คนบริหาร” ทั้งของ มร.โนริยุกิ ทาคาคุระ หรือ “เจ๊เจี๊ยบ” มนวรา เพชรพลากร ที่ “เกียร์ 6” เองก็ไม่เคยได้เจอะเจอ แต่…ที่แปลก… “รถยนต์ฮอนด้า” ยังคงเป็นรถคันที่คนไทยต้องการ ไม่แพ้รถยี่ห้อไหน? ทุกครั้งที่เปิดตัว ก้อ…จะมียอดจองแบบไม่อายใคร ทั้งฮอนด้า ซิตี้ ฮอนด้า ซีวิค หรือฮอนด้า แอคคอร์ด รวมไปถึงรถเอสยูวี อย่างซีอาร์-วี เปิดเมื่อไรก็เมื่อนั้น
ก้อ…ไม่รู้เป็นเพราะนโยบายของฮอนด้า ในยุคหลังๆ หรือไม่? ซึ่งแตกต่างจากยุคของวันวาน ที่มี “คนไทย” ยืนอยู่แถวหน้า ทำให้การสื่อสารนั้น สามารถขับเคลื่อนได้แบบพร้อมเจอคนสื่อทุกรูปแบบ คงยากปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง คงยากที่จะอดนึกถึงคนบริหารคนไทยในยุคที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น พิทักษ์ พฤทธิสาริกร หรือ ณัฏฐ์ ปฏิภานธาดา ที่ “เกียร์ 6” สามารถพูดคุยได้เกือบทุกเรื่อง รวมถึงสามารถกริ๊งกร๊างคุยกันนอกรอบได้อีกต่างหาก ก้อ…น่าจะเป็นแค่ความทรงจำที่ไม่มีในวันนี้
สิ่งสำคัญ…ที่ “เกียร์ 6” มองว่า “นายญี่ปุ่น” ไร้ปัญหา น่าจะเป็นเรื่องของความสำเร็จ ที่รถยนต์ฮอนด้ายังคงดำรงอยู่ได้ เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงของ “คนทำงาน” แต่…ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความสำเร็จของยอดขายรถยนต์ฮอนด้าได้ ก้อ…น่าจะเป็นอีกความเปลี่ยนแปลง ในยุคที่ “คนสื่อ” ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเหมือนกัน “ยุคสื่อออนไลน์” ความจำเป็นในการเจอะเจอก็กลายเป็นเรื่องสำคัญน้อยลงไป แค่…เจอหน้าจอสี่เหลี่ยม มีอะไรคุยกันผ่านตัวหนังสือ “เกียร์ 6” ยอมรับ…นี่คือรถยนต์ฮอนด้า ยุคออนไลน์อย่างแท้จริง
วันนี้…ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น “เกียร์ 6” เชื่อว่า…ไม่ได้ส่งผลอะไร? ต่อจากนี้… “รถยนต์ฮอนด้า” ก็คงจะเป็นไปในรูปแบบนี้ รวมถึง…คนบริหารที่เป็นคนไทยคงจะลดน้อยลงไป ชัดเจนยิ่ง…ในปัจจุบันแทบไม่ได้เห็นชื่อคนบริหารที่เป็นคนไทยชัดเจนเช่นเหมือนวันวาน สุดท้าย…ก็เป็นแค่นโยบายของค่ายฮอนด้า ออโตโมบิล ที่ชัดเจนยิ่ง เป็นการบริหารภายใต้ “เจแปนคอนโทรล” และจะส่งผลยิ่งต่อ “ท่อน้ำเลี้ยง” ที่จะส่งผ่านถึง “คนสื่อ” ยิ่งหดสั้นตามไปด้วย แต่ “ฮอนด้า” ก้อ…ยังคงประสบความสำเร็จ เป็นรถยนต์คันที่ใช่ของคนไทย ที่ทำให้ “ฮอนด้า” ประสบความสำเร็จในตลาดรถยนต์เมืองไทย
ภายใต้การบริหารของ “คนญี่ปุ่น” ที่มีนโยบายแตกต่างจากวันวาน โดยสิ้นเชิง