จอ…จ่อ…จ้อ…424 ชีวิตการเป็น “คนกรังด์ปรีซ์” เข้าและออก…แค่ 3 รอบเอง สุดท้าย… “ยวดยาน” เป็นคำตอบสุดท้าย

ไม่รู้เป็นเพราะเหตุใด…มีคนถาม “รามอินทรา” หลากหลายเรื่องราว โดยเฉพาะเรื่องการเป็น “คนกรังด์ปรีซ์” เป็นมานานแค่ไหน? เรื่องนี้ลำดับยากนิดนึง เพราะเข้าและออก “กรังด์ปรีซ์” มา 3 รอบ รอบแรก…ยุคของ “มอเตอร์ วีคลี่”หนังสือพิมพ์ยานยนต์ ที่น่าจะเป็นฉบับแรกของเมืองไทย “รามอินทรา” ยังเป็นแค่ “ฝ่ายศิลป์” ไม่ได้รับผิดชอบงานเขียน จำได้ว่า…ออฟฟิศยังอยู่ริมคลองประปา ช่วงสี่แยกเตาปูน นึกถึงครั้งใดยังเป็นงงอยู่จนทุกวันนี้ เพราะทีมงานแข็งมาก มี “มือรายวัน” มาเป็นทีมงาน ไม่ว่าจะเป็น ภิญโญ ควนสุวรรณ เสียชีวิตแล้ว ภานุมาศ ทักษณา หรือ “เอก” ประจักษ์ มะวงศ์สา แต่…สุดท้ายก็ไปไม่รอด ถ้าจำไม่ผิด “เจ้านาย” ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา หมดไปกว่า 5 ล้านบาท ก้อ…เลยต้องลาออกโดยปริยาย
กลับ “กรังด์ปรีซ์” อีกครั้ง มาเริ่มเป็นฝ่ายศิลป์ อีกแหละ ที่นิตยสารกรังด์ปรีซ์ มีภิญโญ ศิลปศาสตร์ดำรง เป็นบอกอ.ใหญ่ ตอนนั้น “กิ๊ก” รัชฎา พลวรรณาภา เป็นกองบรรณาธิการ ช่วงนั้นทีมงานแข็งโป๊ก โดยเฉพาะมือทดสอบรถ ที่มีไม่ต่ำกว่า 4-5 คม วันเปลี่ยนคนเปลี่ยน เลยโบกมือลาอีกครั้ง หลังจากมีโอกาสพลิกเกมมาเป็น “คนเขียนหนังสือ” แต่เพราะอึดอัดกับ “คนเยอะ” เลยขอ “เจ้านาย” ลาออกดีกว่า ไปเป็นบอกอ.ให้หนังสือพิมพ์มอเตอริ่ง ของ ชัยยันต์ ฤทธิ์ดอน ก่อนจะผันตัวเองไปเป็น “คนบริษัท” อยู่ที่ “ไทยแดวู” ที่เป็นรถยนต์สัญชาติเกาหลี ก้อ…อยู่จนเกือบ 3 ปี ก้อ…ต้องโบกมือลา เพราะ “แดวู” ขับผิดทางกลับเกาหลีซะยังงั้น
เดือนสุดท้ายใน “ไทยแดวู” เลยจัดวาง “ดัมมี” หนังสือพิมพ์อีกครั้ง เพราะชีวิตผิดหวังมาทั้ง มอเตอร์ วีคลี่ และมอเตอริ่ง วางดัมมีเสร็จ ก็นัดคุยกับ “เจ้านาย” อีกครั้ง เห็นเปิดดูทุกหน้า ก่อนจะเงยหน้าตอบว่า เอา แต่…อยากเพิ่มเซ็กชั่นภาษาอังกฤษ จากวันนั้น…ก็เลยเป็น “ยวดยาน” ในวันนี้ “รามอินทรา” ไม่อยากเล่ารายละเอียด เอาเป็นว่า 24 ปีของ “ยวดยาน” คือบทพิสูจน์ความสำเร็จในชีวิต “คนทำหนังสือ” ที่ไม่ต้องโม้ ไม่ต้องคุย ไม่ต้องโอ้อวด เพราะเริ่มเองจัดการเอง จนประสบความสำเร็จ รวมถึงเป็นฐานกำเนิด “รามอินทรา” และ “เกียร์ 6” และ “โซ่หลุด” ที่ได้รับการยอมรับจนทุกวันนี้
ก้อ…เป็นอีกเส้นทางของ “คนทำงาน” ที่อยากบอกเป็นอีกความสำเร็จที่คุยได้เต็มปากเต็มคำ ไม่จำเป็นต้องอ้างอิง ไม่จำเป็นต้องเพ้อพก เพราะสุดท้าย…ความจริงก็คือความจริง คนจริงก็คือคนจริง ชีวิตไม่ใช่นิยายจะได้เป็นแค่ “คนขายฝัน” เลยหยิบมา จอ…จ่อ…จ้อ ให้อ่านกัน
มากกว่าขอบคุณ
“รามอินทรา”
บ้านชินเขต
5 มกราคม 2564