“โตโยต้า” มองตลาดรถฟื้น ตั้งเป้าปีกระต่าย 3.1 แสนคัน

โตโยต้า มองทิศทางภาพรวมตลาดรถยนต์ฟื้นตัว หลังต้องเจอกับวิกฤติโควิด-พิษเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาชิ้นส่วนชิป-เซมิคอนดักเตอร์ ประกาศมั่นใจคาดการณ์ทั้งปี 2566 ตลาดรถยนต์ขายทะลุ 9 แสนคัน ขณะ โตโยต้า ตั้งเป้ายอดขายรถยนต์ที่ 3.1 แสนคันในปีนี้
ภาพรวมตลาดรถยนต์ในปี 2565 กลับมาเดินเครื่องเติบโตก้าวกระโดดอีกครั้ง หลังจากที่ติดลบมาตั้งแต่ปี 2019 จากสภาพเศรษฐกิจโลกและวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปแทบจะทุกแวดวงธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงการอุตสาหกรรมยานยนต์
ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ในปี 2565 ที่ผ่านมา ยังอยู่ในสภาพค่อยๆ ปรับฟื้นตัว มีปัจจัยบวกจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งออกที่เริ่มเติบโตดีขึ้น รวมถึงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย และการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาคึกคัก
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยด้านลบอื่นๆ เช่น ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และปัจจัยอื่นๆ จากสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม เช่น การขนส่ง ภาวะเงินเฟ้อ และราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจ และการจับจ่ายในประเทศไทย
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาทั้งปัจจัยลบ และปัจจัยบวกข้างต้น ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยปี 2565 อยู่ที่ 849,388 คัน หรือเพิ่มขึ้น 11.9% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดย โตโยต้า ยังคงทำยอดขาย 288,809 คัน เพิ่มขึ้น 20.5% ครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 1 หรือ 34% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด
ด้านนายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีนี้ว่า จะเริ่มกลับคืนสู่สภาวะปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย บวกกับรัฐบาลได้เปิดประเทศส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้มีอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น และสถานการณ์ด้านการผลิต โดยเฉพาะปัญหาที่การขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงเช่นกัน
ทำให้ โตโยต้า มีความมั่นใจว่าในปี 2566 ยอดการจำหน่ายรถยนต์ของประเทศไทยโดยรวม จะกลับไปแตะระดับ 900,000 คันต่อปี อันจะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มทยอยกลับคืนสู่สภาวะปกติ และคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2566 จะโต 6% จากปีก่อนมียอดขายที่ 900,000 คัน แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง จำนวน 301,500 คัน โต 13.7% รถเพื่อการพาณิชย์ จำนวน 598,500 คัน โต 2.4%
ส่วนโตโยต้าตั้งเป้ายอดขายในปีที่ไว้ที่ 310,000 คัน โต 7.3% และมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 34.4% ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 96,900 คัน โต 17.1% มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 32.1% รถเพื่อการพาณิชย์ จำนวน 213,100 คัน โต 3.4% มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 35.6% โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็น รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 183,000 คัน โต4.1% และ รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) จำนวน 155,000 คัน โต 4.7%
ส่วนปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จนั้นเป็นผลมาจากการที่ส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์นั่งของโตโยต้ามีการขยับตัวและเติบโตสูงขึ้น รวมไปถึงการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงและใกล้ชิดกับลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
“ปีที่แล้วเราได้แนะนำรถยนต์นั่ง 2 รุ่นซึ่งประความสำเร็จด้านยอดขายของรถยนต์รุ่นใหม่อย่าง เวลอซ และ ยาริส เอทีฟ ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีภายหลังจากการแนะนำเข้าสู่ตลาดไปเมื่อปีที่แล้ว”