โซ่หลุด ฉบับ 1,009 สุดท้าย…แม้ก้าวข้ามวิกฤติ “คนบริหาร” ยังเป็นคำตอบ ของ… “งบสนับสนุน” คนสื่อ

ปีใหม่…ผ่านมาสู่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคมแล้ว “โซ่หลุด” ยังไม่เห็นความคึกคักที่ชัดเจนจากแวดวงรถจักรยานยนต์เมืองไทย เพราะช่วงสิ้นปี ก้อ…เป็นแค่การขยับตัวเล็กๆ ของรถใหญ่ ยังไม่เห็นรถบ้านขยับตัว ด้วยอาจเป็นช่วงที่เพิ่งจะก้าวพ้นจากวิกฤติโควิด-19 รวมถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ ที่จะว่าไปแล้วก็แค่เริ่มมีความคึกคักจากการเปิดประเทศ แต่ยังถือว่าโชคดีที่รถจักรยานยนต์ เป็นอีกยานพาหนะที่ใช้ทำมาหากิน ยังไงก็เอาใจช่วยให้ทุกค่ายสามารถขยับตัวและเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ มานำเสนอกัน ปีนี้…ยังไงสถานการณ์น่าจะโอเคขึ้นแล้วล่ะ
“โซ่หลุด” สำรวจความคึกคักของแต่ละค่าย เท่าที่จับสังเกตได้ เริ่มต้นกันที่ “ไทยฮอนด้า” เบอร์ 1 ของรถจักรยานยนต์ ที่ต้องบอกวันนี้กับวันวานแตกต่างกัน โดยเฉพาะ…งบประมาณที่จะจับจ่ายใช้สอย มองมุมไหนก็ถูกตัดทอนลง ภายใต้การดูแลของ “นายญี่ปุ่น” ซึ่งไม่รู้เป็นเพราะนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่? ยอมรับแตกต่างจากวันวาน ที่มี “ผู้บริหารเป็นคนไทย” ความเข้าอกเข้าใจในวิถีแห่งความผูกพันระหว่างคนบริษัทกับคนสื่อ ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงในวิถีของคนสื่อ ที่เปลี่ยนเป็น “สื่อออนไลน์” ทำให้จำนวนคนสื่อที่เพิ่มมากขึ้นอย่างน่าใจหาย ก้อ…เข้าใจได้ว่า “คนบริษัท” คงยากที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง ยิ่งงบถูกตัด ก็ยิ่งยากลำบากมากขึ้น
ข้ามไปที่ “ไทยยามาฮ่า” ถ้ามองจาก “ยอดขาย” ที่ต้องยอมรับแตกต่างจาก “ไทยฮอนด้า” แน่นอน งบสนับสนุนคงไม่สามารถจัดสรรให้ได้มากมาย แต่ “โซ่หลุด” ยังมองว่าโชคดีที่คนบริหารที่เป็น “คนไทย” ยังมีบทบาทชัดเจน ทำให้ยังมี “งบสนับสนุน” มาจุนเจือ “คนสื่อ” ได้พอสมควร อยู่แค่ว่าจะจัดสรรเยี่ยงไร? กับจำนวน “คนสื่อ” ที่เยอะแยะกว่าวันวาน คงยากที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง เพียงแค่ใช้ความเข้าใจอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ซึ่งก็ชัดเจนว่า…ยังไงถ้า “คนไทย” ยังมีอำนาจการตัดสินใจ ก้อ…น่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับ “คนสื่อ” จะมากหรือน้อย ยังไงก็ดีกว่าไม่มีหรือมีน้อย
อีก 2 ค่าย “โซ่หลุด” คงไม่เอ่ยถึง เพราะเชื่อว่าปีใหม่ อะไรๆ ก็คงเหมือนเดิม เพราะจะเป็นใครบริหาร มองมุมไหนก็ยากจะแตกต่างกัน เมื่อตราบใดที่ยอดขายยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังเป็นยอดขายที่ไม่แตกต่างกัน จะเป็นใครบริหารก็ไม่แตกต่างกัน เพราะงบไม่มีก็คือไม่มีงบนั่นแหละ
ก้อ…หวังจาก 2 ค่ายเหมือนเดิมแหละ