เกียร์ 6 ฉบับ 1,106 มร.โทชิฮิโระ ฟูจิกิ ค้นหา…ต้นทางความสำเร็จ

บางครั้ง…บนเส้นทางของคนธุรกิจ ก็มีบางโอกาสที่เหมือนจะไม่ถูกที่ถูกเวลา อย่างเช่น “นายญี่ปุ่น” ของคนนิสสัน ที่ “เกียร์ 6” มองว่าการเข้ามารับบท “แม่ทัพนิสสัน” เหมือนจะล่าช้าไป การมารับบทในห้วงเวลาที่ยากลำบาก ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังบาดเจ็บ ตลาดรถยนต์เมืองไทยมีปัญหากับการค้นหายอดจอง จากที่คาดการณ์ปีนี้จะเหลือไม่ถึง 6 แสนคันเท่านั้น อะไร?…ทำให้ถึงเหมือนไม่ถูกที่ถูกเวลา ในมุมมองที่มอง “นายญี่ปุ่น” รู้สึกเหมือนจะเข้าใจในการเป็นคนทำงานของคนนิสสัน การยอมรับความจริงและพยายามเรียนรู้ เพื่อประสานทุกสภาวะกำลังให้ลงตัว นั่นทำให้รู้สึกว่า…ถ้ามาในสภาพที่โอเคกว่านี้ “เกียร์ 6” เชื่อว่า… “รถยนต์นิสสัน” น่าจะมีความสดใสมากกว่านี้
จริงอยู่…อาจจะมีคนมองว่า “รถยนต์นิสสัน” นั้น ไม่ค่อยมีการขยับตัวมากนักในห้วงเวลาที่ผ่านมา ถ้าเขียนกันตรงๆ…เหมือนยังย่ำอยู่กับที่ ไม่มีรถรุ่นใหม่ๆ ไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่…ที่ “เกียร์ 6” เพิ่มเติมให้ คือการขยับตัวของคนบริหารที่เหมือนไม่ให้ความสำคัญของประเทศไทย “คนทำงาน” เหมือนมีไม่เต็มกรอบ จนถูกมองว่า…รถยนต์นิสสัน ไม่น่าจะมีเส้นทางที่สวยงาม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว รถยนต์นิสสันถือเป็นรถยนต์อีกคันที่อยู่บนถนนเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ยังมี “แฟนพันธุ์แท้” รักในความเป็นนิสสันอยู่ทั่วไป เพียงแต่…จะทำเยี่ยงไร? ให้มีความชัดเจน ทั้งเรื่องของผลิตภัณฑ์และคนบริหาร รวมถึงคนทำงานที่ไม่ใช่มองประเทศไทย เป็นแค่ตลาดรองเท่านั้น ความหมายของ “เกียร์ 6” ก็คือ… “คนทำงาน” จะต้องครบทีม
ความหมายของ “เกียร์ 6” นั้น แค่มองว่าที่ผ่านมา…รถยนต์นิสสัน เหมือนถูกปล่อยให้แบบทีมสำรอง ไม่ว่างบ ไม่ว่าคนบริหาร ที่บางครั้งก็รู้สึกเหมือนถูกปล่อยเป็นเรือลอยน้ำ วันนี้…เมื่อมีการเปลี่ยน “นายญี่ปุ่น” ที่รู้สึกและจับต้องได้ว่า…ให้ความมั่นใจและให้ความเชื่อมั่นในวิถีแห่งการทำงานของคนไทย เชื่อว่า…ถ้าในปี 68 รถยนต์นิสสัน สามารถเติมเต็มความสมบูรณ์ ทั้งผลิตภัณฑ์ ทั้งงบประมาณ ก็อาจจะทำให้ความเป็นรถยนต์นิสสัน กลับคืนสู่ความสำเร็จเช่นในอดีต “เกียร์ 6” ยังเชื่อว่า…รถยนต์นิสสันนั้น หาก “นายญี่ปุ่น” สามารถเลือกรถรุ่นใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีโดนใจคนไทย ก็อาจจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นได้ไม่ยาก และอยากให้ “นายญี่ปุ่น” เชื่อมั่นและเชื่อใจในทีมงานคนไทย ลองให้โอกาสให้แสดงความคิดเห็น แล้วผสมผสานกันให้ลงตัว จะเกิดเป็นความสำเร็จได้ไม่ยาก ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร แค่อยากให้เข้าใจในเจตนาดีของ “เกียร์ 6” ที่ยังเป็นอีกคนที่นิยมชมชอบความเป็น “นิสสัน” มาตั้งแค่อดีต
ก้อ…หวังว่ามุมมองของ “เกียร์ 6” ในวันนี้ น่าจะเป็นอีกมุมผสมความสำเร็จของรถยนต์นิสสันก็ได้ หรือ “นายญี่ปุ่น” จะเปิดใจคุยกับคนทำงานคนไทย หรือเดินสายคุยกับคนขายนิสสัน ที่ยังคงมั่นคงกับความเป็นนิสสันดูบ้างก็ได้ “นายญี่ปุ่น” กล้าที่จะลองมั้ยครับ
อาจจะเป็นต้นทางที่ทำให้ “นายญี่ปุ่น” ค้นพบต้นทุนความสำเร็จก็ได้