“ตลาดรถ” ยังฝืด 10 เดือน 6.5 แสนคัน

ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยยังคงชะลอตัว เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดขายรวมในเดือนตุลาคม ลดลงถึง 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ด้วยยอดขาย 58,963 คัน ขณะที่ยอดขายสะสมหลังผ่าน 10 เดือน อยู่ที่ 645,833 คัน ลดลง 7.5% โดยคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นในช่วงฤดูกาลซื้อขายปลายปี
จากทิศทางของสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างลื่นไหล เนื่องด้วยความไม่ชัดเจนในเรื่องนโยบายจากภาครัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงชะลอการตัดสินใจซื้ออย่างต่อเนื่อง บวกกับความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีความกังวลต่อความสามารถในการผ่อนชำระของผู้รับสินเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ และตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกระแสการหมุนเวียนของสินเชื่อเป็นหลัก
ส่งผลให้ภาพรวมของตลาดรถยนต์ในเดือนตุลาคม ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ด้วยยอดขาย 58,963 คัน ลดลง 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ตลาดรถยนต์นั่งยังเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 13.7% ด้วยยอดขาย 22,130 คัน เป็นผลมาจากการเติบโตของเซ็กเมนต์อีโคคาร์ ด้วยยอดขาย 16,800 คัน เพิ่มขึ้นถึง 20.3% ในขณะที่ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ชะลอตัวต่อเนื่อง ที่ 18.4% ด้วยยอดขาย 36,833 คัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน หดตัวถึง 35.1% ด้วยยอดขาย 22,998 คัน
สำหรับยอดขายรถยนต์ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นทางด้านโตโยต้าที่ครองอันดับ 1 ด้วยยอดขาย 20,852 คัน ลดลง 18.0% ครองส่วนแบ่งตลาด 35.4% รองลงมาได้แก่ อีซูซุ ในอันดับ 2 ด้วยจำนวน 10,962 คัน ลดลง 22.2% ครองส่วนแบ่งตลาด 18.6% ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ ฮอนด้า มีจำนวนทั้งสิ้น 7,306 คัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 23.6% ครองส่วนแบ่งตลาด 12.4%
จำแนกเป็น ตลาดรถยนต์นั่ง ที่มีปริมาณการขาย 22,130 คัน เพิ่มขึ้น 13.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอันดับ 1 ได้แก่ โตโยต้า ที่มียอดขายทั้งสิ้น 7,165 คัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.3% ครองส่วนแบ่งตลาด 32.4% ขณะที่ฮอนด้า รั้งอยู่ในอันดับ 2 ด้วยยอดขาย 3,462 คัน ลดลงถึง 36.5% ครองส่วนแบ่งตลาด 15.6% ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ มิตซูบิชิ จำนวน 743 คัน ลดลงถึง 50.1% ครองส่วนแบ่งตลาด 3.4%
ด้านตลาดหลักอย่างตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ ด้วยปริมาณการขาย 22,998 คัน ลดลง 35.1% โดยอันดับ 1 ได้แก่ อีซูซุ มีจำนวนทั้งสิ้น 9,725 คัน ลดลง 24.0% ครองส่วนแบ่งตลาด 42.3% เฉือนโตโยต้าที่รั้งอยู่ในอันดับ 2 ด้วยยอดขาย 9,338 คัน ลดลง 37.8% ครองส่วนแบ่งตลาด 40.6% ขณะที่ฟอร์ด รั้งอยู่ในอันดับ 3 จำนวนทั้งสิ้น 2,539 คัน ลดลง 49.7% ครองส่วนแบ่งตลาด 11.0%
ส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ เดือนมกราคม-ตุลาคม มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 645,833 คัน ลดลง 7.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอันดับ 1 ได้แก่ โตโยต้า จำนวนทั้งสิ้น 220,144 คัน ลดลง 5.9% ครองส่วนแบ่งตลาด 34.1% ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ อีซูซุ มีจำนวนทั้งสิ้น 131,256 คัน ลดลง 26.1% ครองส่วนแบ่งตลาด 20.3% ถัดไปเป็น ฮอนด้า ในอันดับ 3 จำนวนทั้งสิ้น 77,188 คัน เพิ่มขึ้น 14.9% ครองส่วนแบ่งตลาด 12.0%
โดยคาดว่าตลาดรถยนต์เดือนพฤศจิกายน มีทิศทางที่จะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย ตามฤดูกาลขายช่วงไฮซีซัน ซึ่งค่ายรถยนต์ต่างมีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ พร้อมด้วยแคมเปญส่งเสริมการขายเพื่อหวังกระตุ้นยอดขายและปิดตัวเลขการขายประจำปี โดยเฉพาะงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 40 ซึ่งลูกค้าจำนวนมากต่างเฝ้ารอรับข้อเสนอพิเศษสุดแห่งปี อย่างไรก็ตาม ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเจริญเติบโตของตลาดรถยนต์ทุกเซ็กเมนต์อย่างปฏิเสธไม่ได้