เส้นทาง… ‘เก๋งเล็ก’ ใครวิน!
ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ด้วยทิศทางการขยับตัวที่น่าสนใจของค่ายรถยนต์ ที่มุ่งเป้าการทำตลาดในกลุ่ม “รถเก๋งเล็ก” เห็นได้จากการเปิดตัวรุ่นใหม่ๆ ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา วันนี้ “ยวดยาน” จะพาไปส่องเส้นทางของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ว่าค่ายไหนจะเปิดตัวทำตลาดได้โดนใจผู้บริโภคคนไทยมากกว่ากัน
ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ยังคงเป็นกลุ่มตลาดที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในเซ็กเมนต์รถยนต์ที่มีในเมืองไทย เนื่องด้วยเป็นรถยนต์ที่เหมาะสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการใช้รถขนาดเล็กเพื่อใช้งานในเมืองเป็นหลัก กลุ่มนักศึกษา หรือกลุ่มวัยเพิ่งเริ่มต้นทำงาน โดยขายรถในราคาที่ไม่แพง เน้นการประหยัดน้ำมัน บำรุงรักษาง่าย อะไหล่ไม่แพง ราคาขายต่อไม่ตกมาก
ซึ่งวันนี้ “ยวดยาน” จะพาไปส่องเส้นตลาดรถยนต์นั่งเล็ก ว่ามีค่ายไหนที่เปิดตัวในตลาดเมืองไทยจนประสบความสำเร็จในปี 2566 ขอเปิดหัวด้วยเจ้าตลาดอย่าง “โตโยต้า” ที่ไม่ว่าขยับตัวเมื่อใด สามารถสร้างกระแสความคึกคักให้กับตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กได้เสมอ ซึ่งจากการเปิดตัวแนะนำ โตโยต้า ยาริส เอทีฟ เมื่อปีที่ผ่านมา ยังคงได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคคนไทยได้เป็นอย่างดี
ด้วยตัวผลิตภัณฑ์ที่ผ่านแนวคิดจากการรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าเป็นหลัก ยิ่งสะท้อนความสำเร็จให้ โตโยต้า ยาริส เอทีฟ ยังคงเป็นรถยนต์นั่งที่ขายดีสุดในตลาด โดยในช่วงไดรมาสแรกของปี เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 รถยนต์รุ่นนี้ทำยอดขายไปได้แล้วทั้งสิ้น 25,483 คัน กวาดส่วนแบ่งทางการตลาด 58.2%
ขยับมาที่อีกหนึ่งค่ายคู่แข่งอย่าง “ฮอนด้า” หลังเปิดตัวทำตลาด ฮอนด้า ซิตี้ เจเนอเรชันใหม่ ภายใต้ขุมพลังใหม่ ยิ่งสร้างความตื่นตัวให้กับตลาด และเพิ่มความหลายหลายให้กับกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบในเรื่องของสมรรถนะ ซึ่งนับตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย ฮอนด้า ซิตี้ ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้ามาโดยตลอด ด้วยยอดขายสะสมเกือบ 800,000 คัน
ซึ่งล่าสุด ฮอนด้า ซิตี้ ได้มีการปรับโฉมใหม่ ดีไซน์ภายนอกเสริมความสปอร์ตพรีเมียมมากขึ้น โดยทุกรุ่นย่อยยังมาพร้อมเทคโนโลยีความปลอดภัยอัจฉริยะ Honda SENSING นับเป็นอีกหนึ่งกระแสความคึกคักของตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และครั้งนี้ฮอนด้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ฮอนด้า ซิตี้ ใหม่ นี้จะได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า จนสามารถก้าวผ่านขึ้นครองบัลลังก์ในกลุ่มตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กหรือซิตี้คาร์ได้อีกคำรบ
อีกหนึ่งความคึกคัก คงหนีไม่พ้นค่าย “มาสด้า” ที่ปลุกกระแสให้กับกลุ่มตลาดรถยนต์นั่งได้อย่างมั่นอกมั่นใจ ด้วยการเปิดตัวแนะนำ มาสด้า2 โมเดล 2023 เพิ่มความสดใหม่ ใส่ความทันสมัย มาพร้อมออปชันที่จัดเต็มตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น ผสมผสานเทคโนโลยีการใช้งานที่ครบครัน แต่ยังคงไว้ซึ่งราคาขาย 599,000 บาท ยิ่งทำให้ มาสด้า2 ใหม่ เดินหน้าเก็บเกี่ยวยอดจองไปแล้วมากกว่า 1,500 คัน และส่งมอบรถให้กับลูกค้าไปแล้วมากกว่า 1,000 คัน ซึ่งนับตั้งแต่การเปิดตัวที่สยาม เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา
โดย มาสด้า2 นับเป็นรถยนต์อีกหนึ่งรุ่นที่สร้างยอดขายให้กับมาสด้าอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นรถรุ่นที่ขายดีที่สุดของมาสด้า ด้วยจุดขายหลักที่เป็นรถซับคอมแพ็คที่มีความคล่องตัว ดีไซน์โดดเด่น ราคาจับต้องได้ จึงกลายเป็นรถยอดฮิตของคนวัยทำงาน รวมไปถึงกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่
ขยับมาที่อีกหนึ่งค่าย กับ “นิสสัน” ที่ถือว่าประสบความสำเร็จกับตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กไม่แพ้ค่ายอื่นๆ ภายใต้ผลิตภัณฑ์อย่าง นิสสัน อัลเมร่า โดยรถยนต์รุ่นนี้นับตั้งแต่เปิดตัวจนถึงปัจจุบัน มียอดจำหน่ายแล้วกว่า 240,000 คัน
ด้วยความโดดเด่นในตัวผลิตภัณฑ์ของ นิสสัน อัลเมร่า ที่ให้ความทันสมัย และมอบความคุ้มค่าได้อย่างครอบคลุม ยิ่งทำให้รถยนต์รุ่นนี้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในคู่แข่งที่สำคัญในตลาด
ขยับมาที่อีกหนึ่งค่าย ซูซูกิ ที่ ณ เวลานี้ยังเงียบเหงา แต่ทว่ายังสามารถปั้นยอดขายของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก โดยเฉพาะ ซูซูกิ สวิฟท์ ได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เปิดตัวในปี 2555 ซูซูกิ สวิฟท์ สร้างยอดขายสะสมถึงปี 2564 ได้ถึง 146,447 คัน ขณะที่ปี 2565 รถยนต์รุ่นนี้ยังคงเป็นรุ่นที่สามารถทำยอดจำหน่ายได้สูงสุด รวมทั้งสิ้น 8,641 คัน และประสบความสำเร็จได้ดีอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการเปิดตัว ซูซูกิ สวิฟท์ จีแอล เน็กซ์ ภายในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ 2023 ที่ผ่านมา
ซูซูกิ สวิฟท์ นับเป็นรถยนต์ที่สร้างความสำเร็จให้กับซูซูกิ ซึ่งนอกจากรูปทรงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและมีสมรรถนะการขับขี่ที่ดีแล้ว ยังมอบความประหยัด คุ้มค่า อีกทั้งเป็นรถที่สามารถนำไปพัฒนาตกแต่งตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้อย่างโดนใจอีกด้วย ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า ค่ายรถยนต์ “ซูซูกิ” จะขยับตัวเปิดตัวอีโคคาร์รุ่นใหม่ อีกครั้งเมื่อใด ในช่วงเวลาที่เหลือหลังจากนี้
ปิดท้ายกับค่ายมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่ ณ เวลานี้ ยังคงมุ่งมั่นในการทำตลาดเก๋งเล็กกับมิตซูบิชิ มิราจ และ แอททราจ ด้วยความเป็นรถยนต์ไซส์เล็ก ที่อาจจะตอบโจทย์เพียงลูกค้าเฉพาะกลุ่ม จึงทำให้รถยนต์เก๋งเล็กของค่าย มิตซูบิชิ ดูจะเงียบเหงาไปสักหน่อย แต่ทว่าก็ยังสามารถประคองยอดขายให้กับแบรนด์ได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทว่าเร็วๆ นี้เราอาจจะได้เห็นการเปิดตัวรถยนต์เก๋งเล็กรุ่นใหม่ๆของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส อีกครั้งก็เป็นได้
และนี่คือ…ข่าวคราวความเคลื่อนไหวและเส้นทางความสำเร็จของบรรดาค่ายรถยนต์ต่างๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ภายใต้ทิศทางการทำตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (บี-เซ็กเมนต์)