“อีโคคาร์” ตอบโจทย์ คุ้มค่า…คุ้มราคา ตอกย้ำความนิยมผู้บริโภค
ด้วยความคุ้มค่าคุ้มราคา บวกกับสมรรถนะการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ส่งผลให้อีโคคาร์ ยังคงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่ได้รับความสนใจ และสร้างยอดขายให้กับผู้เล่นในเซ็กเมนต์ดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง ครองสัดส่วนกว่า 1 ใน 5 ของภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ทั้งยังคงเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ จากการเดินหน้าทำตลาดอย่างต่อเนื่อง สอดรับความต้องการของผู้บริโภค
อีโคคาร์รุ่นแรกในประเทศไทย เปิดตัวและทำตลาดอย่างเป็นทางการในปี 2553 เป็นไปตามแนวทางของภาครัฐบาลที่พยายามผลักดันให้เกิดการผลิตและใช้รถยนต์ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ด้วยเงื่อนไขหลากหลายด้าน ทั้งในเรื่องโปรดักต์ รวมถึงการลงทุนและการผลิต ส่งผลให้ในช่วงเวลาดังกล่าวมี 5 ค่ายผู้ผลิต ที่ให้ความสนใจและเดินหน้าอย่างจริงจัง ประกอบด้วย โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน, มิตซูบิชิ และซูซูกิ
โดย นิสสัน มาร์ช คือผู้เล่นรายแรกในตลาด ก่อนที่ค่ายต่างๆ จะทยอยปล่อยโปรดักต์ลงชิงส่วนแบ่งในตลาดดังกล่าว สร้างกระแสอีโคคาร์ฟีเวอร์ให้กับช่วงเวลาดังกล่าวที่มีนโยบายรถคันแรกเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดัน ด้วยจุดเด่นที่แตกต่างกันไปของแต่ละแบรนด์ สร้างการเติบโตให้กับยอดขาย เติมความเข้มข้นให้กับตลาดรถยนต์ด้วยรถรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
มาจนถึงยุคที่อีโคคาร์ ไม่ใช่คำจำกัดความสำหรับรถยนต์นั่งขนาดเล็กอีกต่อไป เนื่องด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขุมพลังที่มีขนาดเล็กลงแต่ทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่งผลให้ขนาดของตัวรถขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ลบภาพเดิมๆ ของรถขนาดเล็กที่มาพร้อมคุณภาพตามราคาที่จ่าย และเป็นหนึ่งในทางเลือกอันดับต้นๆ ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
อย่างไรก็ดีจากจำนวนผู้เล่นที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลให้สัดส่วนยอดขายนั้นถูกลดทอนตามไปด้วยเช่นกัน แต่ด้วยความคุ้มค่าคุ้มราคา และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันไปนั้น ยังสามารถเดินหน้าเก็บเกี่ยวยอดขายให้กับต้นสังกัดได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับด้วยเช่นกัน เป็นอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ที่แต่ละค่ายยังคงให้ความสำคัญ
ด้วยสถานการณ์ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคมองหารถเพื่อใช้สำหรับเดินทาง ด้วยความกังวลด้านความปลอดภัยหากต้องใช้บริการสาธารณะ ซึ่ง อีโคคาร์ เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆที่ได้รับความสนใจ โดยในปีนี้หลังผ่าน 11 เดือน ตลาดอีโคคาร์มียอดขายสะสม 150,268 คัน ครองสัดส่วน 19.6% จากภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มียอดขายสะสม 766,589 คัน
และเป็นค่ายโตโยต้า ที่ครองตลาดในเซ็กเมนต์ดังกล่าว จาก 2 ตัวเลือกอย่าง โตโยต้า ยาริส และ โตโยต้า ยาริส เอทีฟ ที่มียอดขายรวมกันทั้งสิ้น 49,159 คัน รองลงมาได้แก่ ฮอนด้า ซิตี้ ภายใต้ 2 ทางเลือกเช่นกัน ประกอบด้วย ฮอนด้า ซิตี้ และฮอนด้า ซิตี้ แฮตช์แบ็ก ด้วยยอดขาย 39,943 คัน ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ มาสด้า2 ที่มีให้เลือกใช้ทั้งรูปโฉมแฮตช์แบ็ก และ ซีดาน มียอดขายสะสมทั้งสิ้น 15,836 คัน
ขณะที่ เอ็มจี ซึ่งกระโดดเข้าร่วมวงด้วย เอ็มจี5 สามารถกวาดยอดไปได้ 9,988 คัน รั้งอยู่ในอันดับ 4 ตามด้วย นิสสัน อัลเมร่า ในอันดับ 5 ที่เก็บยอดขายสะสมในปีนี้ไปแล้ว 8,876 คัน ส่วนอันดับ 6 เป็นตัวขายของค่ายซูซูกิ อย่าง ซูซูกิ สวิฟท์ มียอดขายทั้งสิ้น 7,837 คัน ด้าน 2 ทางเลือกจากค่ายมิตซูบิชิ อย่าง แอททราจ และมิราจ ทำยอดขายรั้งอันดับ 7 และ 8 ด้วยยอดขาย 4,260 และ 3,809 คัน ตามลำดับ
อีกหนึ่งอีโคคาร์จากซูซูกิ อย่าง เซเลริโอ ยังคงได้รับความนิยม ด้วยยอดขาย 3,779 คัน รวมถึง ซูซูกิ เซียส ที่เก็บยอดขายไปแล้วทั้งสิ้น 1,446 คัน ขณะที่อีโคคาร์รุ่นแรกอย่าง นิสสัน มาร์ช ประกาศยกเลิกการผลิตและทำตลาดไปเป็นที่เรียบร้อย ทว่าสามารถเก็บยอดขายไปได้ถึง 762 คัน รวมถึง โตโยต้า วีออส และ ฮอนด้า แจ๊ซ ที่ถูกทดแทนด้วยรุ่นใหม่ๆ ทว่ายังสามารถเก็บยอดขายในปีนี้ไปได้ทั้งสิ้น 2,103 และ 1,614 คัน ตามลำดับ
ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะมีทางเลือกที่เพิ่มขึ้น บวกกับกระแสฟีเวอร์ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในตลาดยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ดีเชื่อได้ว่า อีโคคาร์ ยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจด้วยจุดเด่นด้านราคาขายกับสมรรถนะที่ได้ในระดับที่ผู้บริโภคต้องการ บวกกับการเดินหน้าทำตลาดอย่างต่อเนื่องจากค่ายผู้ผลิต จะยังคงสร้างความสำคัญและสร้างยอดขายในเซ็กเมนต์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ส่วนจะสามารถขยับสัดส่วนเพิ่มมากน้อยได้เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสริมด้านเศรษฐกิจ รวมถึงความสามารถในการส่งมอบของค่ายผู้ผลิตที่โดนวิกฤติขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์เล่นงาน แม้จะไม่ร้ายแรงเทียบเท่าโคโรนา ไวรัส 2019 แต่ก็ส่งผลโดยตรงต่อยอดขายและการเติบโตที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่ในระดับที่เป็นอยู่ก็นับว่าเป็นทิศทางที่ดีและคาดว่าจะดีขึ้นเป็นลำดับด้วยเช่นกัน แม้จะอยู่ในช่วงปลายของตลาดอีโคคาร์ เนื่องด้วยปัจจัยเสริมด้านการผลิตที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ยุคถัดไป