รายงานพิเศษ ATTRIC ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ยกระดับคุณภาพ สู่ฮับอุตสาหกรรมแห่งอาเซียน

ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center (ATTRIC) เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันของภาครัฐบาลเพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ก้าวสู่การเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ ตามยุทธศาสตร์ของประเทศและศักยภาพของพื้นที่ สนับสนุนให้มีการออกแบบ วิจัยพัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำ และเป็นศูนย์กลางการทดสอบและรับรองในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้การทำงานของบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงยางล้อ สามารถทดสอบและรับรองได้เองในประเทศ โดยเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานสากลอันดับที่ 11 ของโลก และรั้งอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน
สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ ทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นรากฐานสำคัญที่ผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเฉพาะการเป็นศูนย์ทดสอบเพื่อรองรับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ยางล้อ ชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า
สำหรับโปรเจกต์ดังกล่าว ดำเนินการก่อสร้างโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) บนพื้นที่กว่า 1,235 ไร่ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้งบประมาณ 3,705.7 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดสรรแล้ว 1,872.7 ล้านบาท
โดยระยะที่ 1 เป็นส่วนทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานยางล้อที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปของสหประชาชาติ และอาคารปฏิบัติการทดสอบยางล้อ รวมทั้งติดตั้งเครื่องมือทดสอบยางล้อ ด้านมลพิษทางเสียง การยึดเกาะบนพื้นผิวเปียก และความต้านทานการหมุน สามารถรองรับการทดสอบตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา
ขณะที่ระยะที่ 2 เป็นส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารและสนามทดสอบแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ประกอบด้วย สถานีควบคุมการทดสอบ, สนามทดสอบระบบเบรก (Brake Performance Track), สนามทดสอบระบบเบรกมือ (Park Brake (Test Hill) Track), สนามทดสอบพลวัต (Dynamic Platform Track), สนามทดสอบการยึดเกาะขณะเข้าโค้ง (Skid Pad Track) และถนนหลักในสนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน
รวมถึงดำเนินการติดตั้งเครื่องมือทดสอบ ได้แก่ ชุดทดสอบเข็มขัดนิรภัย, ชุดทดสอบจุดยึดเข็มขัดนิรภัย และชุดทดสอบที่นั่ง, จุดยึดที่นั่ง, พนักพิงศีรษะ และชุดทดสอบห้ามล้อ พร้อมด้วยศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า รองรับการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับแบตเตอรี่ขับเคลื่อนในยานยนต์ไฟฟ้า ครอบคลุมทั้งสมรรถนะและความปลอดภัย ซึ่งเปิดใช้งานกับกลุ่มผู้พัฒนาแบตเตอรี่แล้วบางส่วน
ด้านงบประมาณโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติในปี 2566 ส่วนที่เหลืออีก 1,833 ล้านบาท จะใช้สำหรับการก่อสร้างสนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว อาคารสำหรับเตรียมสภาพรถ ทางวิ่งส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อ และ LAB ทดสอบการชน รวมทั้งจัดซื้อเครื่องมือทดสอบเพิ่มเติม อาทิ ชุดทดสอบอุปกรณ์เลี้ยว, ชุดทดสอบ
การยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง, ชุดทดสอบมาตรความเร็ว, ชุดทดสอบความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงพลังงานไฟฟ้า และระยะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า, ทดสอบการชนด้านหน้าและการชนด้านข้าง และทดสอบอุปกรณ์สัญญาณเสียงเตือน
โดยคาดว่าศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เมื่อพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569 จะสามารถสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 968 ล้านบาท/ปี ทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาได้ราว 30-50% ในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ รวมถึงสร้างงานสร้างอาชีพ และคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาท/ปี
ทั้งยังเป็นการผลักดันและตอกย้ำบทบาทของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงรองรับการก้าวผ่านสู่ยานยนต์ยุคถัดไป ภายใต้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในยานยนต์ทางเลือกที่ได้รับความนิยม และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย