ภาพรวม “ยานยนต์” ขาย 8.5 แสน โต 11% ส่งออกทะลุล้าน กระบะ 7.5 แสนคัน

อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ หลังผ่านช่วงต่ำสุดในช่วงวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ในปี 2565 ปิดตลาดด้วยยอดขายรวมทั้งสิ้น 849,388 คัน เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 11.89% รวมถึงภาคการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.45% ด้วยตัวเลขส่งออก 1,037,317 คัน รถกระบะครองสัดส่วนเกินครึ่ง ด้วยยอดส่งออก 749,644 คัน
ในปี 2564 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 ซึ่งยังคงเป็นประเด็นหลักในสังคมและสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยในปีดังกล่าว ปิดตลาดด้วยยอดขายรวมทั้งสิ้น 759,119 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 4.2% สวนทางกับยอดการผลิตที่เพิ่มขึ้นถึง 18.12% ด้วยยอดการผลิต 1,685,70 คัน
ก่อนที่สถานการณ์จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตไล่เรียงไปจนถึงภาคเศรษฐกิจที่สามารถขยับตัวและขับเคลื่อนได้คล่องตัวยิ่งขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยเช่นกัน ที่เริ่มออกสตาร์ตได้ดี นับตั้งแต่ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ สร้างยอดขายและสร้างการเติบโตให้กับบรรดาค่ายผู้ผลิต แม้จะมีวิกฤติขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ เป็นตัวชะลอ ส่งผลให้ไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ดี ด้วยความผ่อนคลายที่เพิ่มขึ้น บวกกับความคล่องตัวของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น ส่งผลให้สามารถจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญและส่งผลโดยตรงต่อยอดขายในปีที่ผ่านมา สร้างการเติบโตให้กับตลาดรถยนต์ด้วยยอดขายทั้งสิ้น 849,388 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 11.89% รวมถึงตลาดรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.55% ด้วยยอดขาย 1,792,016 คัน
โดยค่ายที่ครองยอดขายสูงสุด 10 อันดับแรก ในปีที่ผ่านมา ไล่เรียงจาก โตโยต้า ด้วยยอดขาย 288,809 คัน เพิ่มขึ้น 20.5% รองลงมาได้แก่ อีซูซุ มียอดขาย 212,491 คัน เพิ่มขึ้น 15.4% ขณะที่ฮอนด้า มียอดขาย 82,842 คัน ลดลง 6.6% ตามด้วย มิตซูบิชิ จำนวน 50,386 คัน เพิ่มขึ้น 6.8% และฟอร์ด จำนวน 43,628 คัน เพิ่มขึ้น 34.7%
ถัดมาได้แก่ มาสด้า ด้วยยอดขาย 31,638 คัน ลดลง 10.6% ตามด้วย เอ็มจี จำนวน 27,286 คัน ลดลง 12% ขณะที่นิสสัน มียอดขาย 22,521 คัน ลงลด 24.2% ปิดท้ายด้วย ซูซูกิ ด้วยยอดขาย 20,083 คัน ลดลง 10.3% และ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ด้วยยอดขายทั้งสิ้น 11,616 คัน สำหรับการดำเนินธุรกิจปีแรกในตลาดประเทศไทย
ขยับมาดูที่ยอดการผลิต ซึ่งรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,883,515 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 11.73% โดยเป็นยอดผลิตของรถยนต์นั่ง จำนวน 600,839 คัน มีสัดส่วน 31.90% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพียง 0.17%
ขณะที่รถกระบะขนาด 1 ตัน มียอดผลิตได้ทั้งสิ้น 1,242,658 คัน ครองสัดส่วนร้อยละ 65.98 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-ธันวาคม 2564 ถึง 18.33% จำแนกเป็น รถกระบะบรรทุก 299,168 คัน เพิ่มขึ้น 12.20%, รถกระบะดับเบิลแค็บ จำนวน 785,569 คัน เพิ่มขึ้น 19.82% และรถพีพีวี จำนวน 157,921 คัน เพิ่มขึ้น 23.47%
ส่วนยอดการผลิตรถจักรยานยนต์ เดือนมกราคม-ธันวาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,626,778 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 13.74% แยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 2,015,940 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ราว 13.21% และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) จำนวน 610,838 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 15.51%
ด้านตัวเลขการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนมกราคม-ธันวาคม 2565 มีจำนวนส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปทั้งสิ้น 1,000,256 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ราว 4.28 % และมีมูลค่าการส่งออก 619,348.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-ธันวาคม 2564 ร้อยละ 10.37
โดยเป็นตัวเลขของรถยนต์นั่ง จำนวนทั้งสิ้น 287,673 คัน ครองสัดส่วน 47.88% ของยอดผลิตรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5.94% ขณะที่รถกระบะขนาด 1 ตัน มียอดผลิตเพื่อส่งออกทั้งสิ้น 749,644 คัน ครองสัดส่วน 60.33% ของยอดการผลิตรถกระบะ เพิ่มขึ้น 9.44% แบ่งเป็น รถกระบะบรรทุก 83,047 คัน ลดลง 0.86%, รถกระบะดับเบิลแค็บ 575,856 คัน เพิ่มขึ้น 9.89% และรถพีพีวี จำนวน 90,741 คัน เพิ่มขึ้น 17.53%
ปิดท้ายด้วยยอดการส่งออกรถจักรยานยนต์ เดือนมกราคม-ธันวาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,034,840 คัน (รวม CBU + CKD) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 7.13% มีมูลค่า 73,728.91 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 2.97% ขณะที่ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 2,859.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.05%
ส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 2,463.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.46% รวมมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนและอะไหล่รถจักรยานยนต์ เดือนมกราคม-ธันวาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 79,051.76 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 1.84%