บทสรุปยานยนต์ 67 ปิดยอด 5.7 แสนคัน

ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ปี 2567 ปิดตลาดที่ราว 570,000 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 26% ซึ่งเป็นผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว บวกกับความเข้มในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ลงไปแตะจุดต่ำสุดในรอบ 15 ปี
หลังผ่านพ้นปี 2019 ที่ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปิดยอดขายที่ตัวเลขมากกว่า 1,000,000 คัน นับจากนั้นภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ประคองตัวอยู่ระหว่าง 700,000-800,000 คัน ไล่เรียงจากปี 2020 จำนวน 825,070 คัน ก่อนจะลดลงไป 759,119 คันในปี 2021
อย่างไรก็ดี สามารถขยับยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 849,388 คัน ได้ในปี 2022 ก่อนจะหล่นลงไปอยู่ที่ 775,780 คัน ในปี 2023 ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นและมียอดขายราว 800,000 คัน ในปี 2024
ทว่าผลกระทบด้านลบทั้งในเรื่องสภาพเศรษฐกิจ บวกกับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ไล่เรียงไปจนถึงมาตรการที่คุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้ภาพรวมของตลาดรถยนต์ในปีที่ผ่านมา ปิดตลาดด้วยยอดขายต่ำสุดในรอบ 15 ปี ด้วยยอดขายราว 570,000 คันเพียงเท่านั้น ลดลงจากปีก่อนหน้าราว 26% ซึ่งเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะมียอดขายไม่เกิน 600,000 คัน
โดยแบรนด์ที่มียอดขายสูงสุด 10 อันดับแรก ไล่เรียงจาก โตโยต้า ที่ครองยอดขายสูงสุด 220,356 คัน ลดลง 17.14% รองลงมาได้แก่ อีซูซุ ด้วยยอดขาย 85,582 คัน ลดลง 43.67% ตามด้วย ฮอนด้า จำนวน 76,574 คัน ลดลง 18.83% ในอันดับ 3 และมิตซูบิชิ ในอันดับ 4 จำนวน 27,318 คัน ลดลง 16.38% ส่วนอันดับ 5 ได้แก่ บีวายดี จำนวน 26,981 คัน ลดลง 11.34%
ขณะที่ฟอร์ดขายได้ 20,893 คัน ลดลง 42.73% รั้งอยู่ในอันดับ 6 ตามด้วย เอ็มจี จำนวน 17,239 คัน ลดลง 36.88% ในอันดับ 7 และนิสสัน จำนวน 9,427 คัน ลดลง 42.60% ในอันดับ 8 ปิดท้ายด้วย มาสด้า จำนวน 9,220 คัน ลดลง 44.27% ในอันดับ 9 และจีดับเบิลยูเอ็ม จำนวน 7,364 คัน ลดลง 43.52% ในอันดับ 10
ขยับมาดูที่ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างแรงกระเพื่อมให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงหลายปีที่ผ่าน มีตัวเลขจดทะเบียนทั้งสิ้น 70,137 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้าราว 8.1% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ต่างได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง
สำหรับยอดจดทะเบียนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสูงสุด 10 อันดับแรก ครองตลาดถึง 38,5% ด้วย บีวายดี จำนวน 27,005 คัน ตามด้วย เอ็มจี จำนวน 9,081 คัน ครองแชร์ 12.9% ถัดไปเป็น เนต้า จำนวน 7,969 คัน คิดเป็น 11.4% ในอันดับ 3 ส่วนอันดับ 4 ได้แก่ ฉางอัน จำนวน 5,912 คัน ครองแชร์ 8.4% และไอออน จำนวน 5,185 คัน ครองแชร์ 7.4% อยู่ในอันดับ 5
ด้าน เทสล่า ครองแชร์ 5.9% ด้วยจำนวน 4,121 คัน รั้งอยู่ในอันดับ 6 รองลงมาได้แก่ โอร่า จำนวน 3,231 คัน คิดเป็น 4.6% ในอันดับ 7 ตามด้วย วอลโว่ จำนวน 2,563 คัน ครองแชร์ 3.7% ในอันดับ 8 ส่วนอันดับ 9 ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู จำนวน 1,483 คัน คิดเป็น 2.1% และวู่หลิง จำนวน 711 คัน คิดเป็น 1.0% ในอันดับ 10
หลังจากนี้ต้องดูการขยับตัวจากภาครัฐบาล ทั้งในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศ รวมถึงมาตรการสนับสนุนการลงทุนต่างๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยชี้วัดทิศทางที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ว่าจะเดินไปในทิศทางใด เพื่อเยียวยาหนึ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบากของตลาดรถยนต์ไทย