ทิศทาง “บีอีวี” สะท้อนความนิยม ตัวเลือกเพิ่มขึ้น ยอดจดลดลง

ภาพรวมของตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (บีอีวี) ในปีที่ผ่านมา มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 70,137 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 8.1% ครองสัดส่วน 14% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง โดยบีวายดีมียอดจดทะเบียนสูงสุดจำนวน 27,005 คัน ครองสัดส่วนถึง 38.5% ซึ่งบีวายดี ดอลฟิน เป็นรุ่นที่มียอดจดทะเบียนสูงสุด จำนวนทั้งสิ้น 13,386 คัน
หลังจากที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาสร้างสีสันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ก่อนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเติบโตแบบก้าวกระโดด ด้วยยอดจดทะเบียนมากกว่า 76,000 คัน ในปี 2023 ขยายตัวเพิ่มจากปี 2022 ที่มียอดจดทะเบียนราว 9,700 คัน เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 684% สะท้อนความร้อนแรงของกระแสบีอีวีฟีเวอร์
ซึ่งเป็นผลพวงจากการเดินหน้าทำตลาดของค่ายยานยนต์สัญชาติจีน ที่ตบเท้าเข้าร่วมวงบีอีวีในตลาดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลยุทธ์ด้านราคาเป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อภาพรวมของตลาด กระตุ้นการขยับตัวของผู้เล่นเดิมในตลาด เพื่อบรรเทาหนึ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
อย่างไรก็ดี จากภาพรวมของตลาดรถยนต์ที่แตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี ด้วยยอดขายราว 600,000 คัน ส่งผลให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามียอดจดทะเบียนในปี 2024 ลดลงด้วยเช่นกัน ด้วยตัวเลข 70,137 คัน ลดลงราว 6,100 คัน คิดเป็น 8.1% จากปีก่อนหน้า ครองสัดส่วน 14% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 502,077 คัน
สำหรับยอดจดทะเบียนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 10 อันดับแรก เป็นทางด้านบีวายดี ที่ครองสัดส่วนมากที่สุดถึง 38.5% ด้วยยอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 27,005 คัน รองลงมาได้แก่ เอ็มจี จำนวนทั้งสิ้น 9,081 คัน ครองสัดส่วน 12.9% ถัดไปเป็น เนต้า ในอันดับ 3 จำนวนทั้งสิ้น 7,969 คัน คิดเป็น 11.4% ส่วนอันดับ 4 ได้แก่ ฉางอัน จำนวน 5,912 คัน คิดเป็น 8.4% และไอออน ในอันดับ 5 จำนวน 5,185 คัน คิดเป็น 7.4%
ด้านเทสล่า ครองอันดับ 6 ด้วยยอดจดทะเบียน 4,121 คัน คิดเป็น 5.9% ตามด้วย โอร่า ในอันดับ 7 จำนวนทั้งสิ้น 3,231 คัน ครองสัดส่วน 4.6% และวอลโว่ ในอันดับ 8 จำนวนทั้งสิ้น 2,563 คัน ครองแชร์ 3.7% ปิดท้ายด้วย บีเอ็มดับเบิลยู จำนวน 1,483 คัน คิดเป็น 2.1% ในอันดับ 9 และวู่หลิง ในอันดับ 10 จำนวนทั้งสิ้น 711 คัน คิดเป็น 1.0%
โดยรุ่นที่มียอดจดทะเบียนสูงสุดได้แก่ บีวายดี ดอลฟิน จำนวนทั้งสิ้น 13,386 คัน ทิ้งห่างรุ่นพี่ร่วมค่ายอย่าง บีวายดี อัตโตทรี ที่รั้งอันดับ 2 ด้วยยอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 7,747 คัน ถัดไปเป็น เนต้า วี ในอันดับ 3 จำนวนทั้งสิ้น 6,587 คัน ตามด้วย เอ็มจีโฟร์ อิเล็คทริค จำนวน 5,403 คัน ในอันดับ 4 และบีวายดี ซีล จำนวน 5,156 คัน ในอันดับ 5
ส่วนอันดับ 6 ได้แก่ ดีพอล เอส07 จำนวนทั้งสิ้น 4,874 คัน รองลงมาได้แก่ ไอออน วาย พลัส จำนวน 3,874 คัน ในอันดับ 7 และเทสล่า โมเดลทรี ในอันดับ 8 จำนวนทั้งสิ้น 3,238 คัน ขณะที่ โอร่า กู๊ดแคท อดีตเจ้าตลาดรั้งอยู่ในอันดับ 9 จำนวนทั้งสิ้น 2,426 คัน ตามด้วย เอ็มจี อีพี จำนวน 1,886 คัน ในอันดับ 10
ด้านตัวเลือกในตลาดพรีเมียมคาร์ที่มียอดจดทะเบียนสูงสุดได้แก่ วอลโว่ ซี40 และอีซี40 มีจำนวนทั้งสิ้น 982 คัน รั้งอยู่ในอันดับ 13 ส่วน บีเอ็มดับเบิลยู ไอเอ็กซ์3 เป็นตัวแทนค่ายบีเอ็มดีบเบิลยู ในอันดับ 17 จำนวน 764 คัน รวมถึง มินิ อิเล็คทริค คูเปอร์ เอสอี ในอันดับ 29 จำนวน 261 คัน ขณะที่ เมอร์เซเดส อีคิวเอส เป็นตัวแทนค่ายดวงดาว จำนวนทั้งสิ้น 94 คัน รั้งอยู่ในอันดับ 41
จากสถานการณ์ดังกล่าว น่าจะเป็นดัชนีชี้วัดทิศทางของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในบ้านเรา โดยเชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าว เดินไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในยังคงเป็นทางเลือกหลัก โดยมีขุมพลังไฮบริดเป็นตัวสอดแทรก หลังกระแสบีอีวีฟีเวอร์เริ่มซาลง เนื่องด้วยความเชื่อมั่นที่ลดน้อยถอยลงไป