“ไทย” ยึดเบอร์หนึ่งอาเซียน เก็บแชร์ 59.2% ยอดขายอีวี

ไทย ก้าวขึ้นเบอร์หนึ่งด้านยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นสัดส่วน 59.2% ของตลาดในเซ็กเมนต์นี้ทั้งหมดของภูมิภาค สอดคล้องกับแนวทางที่ภาครัฐให้การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งเงินอุดหนุน และภาษี ส่งผลให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจในการใช้รถยนต์พลังงานสะอาดเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
จากรายงานสถิติการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในไตรมาส 3 ของปี 2565 ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจากรายงานดังกล่าว อ้างอิงจาก Counterpoint research ว่าประเทศไทยสามารถครองสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าได้มากถึง 60% จากการเก็บข้อมูลยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นถึง 35% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศไทยของเรา ที่มียอดการจดทะเบียนสูงที่สุดในภูมิภาค เป็นสัดส่วนถึง 60% จากจำนวนการจดทะเบียนทั้งหมดที่มี ตามมาด้วยประเทศอินโดนีเซีย และสิงคโปร์
โดยหากนำรถยนต์แบบปลั๊ก-อินไฮบริด มาคำนวณด้วยแล้ว พบว่ายอดขายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (บีอีวี) เป็นจำนวนถึง 61% โดยแบรนด์รถยนต์ที่ทำยอดขายได้สูงที่สุดได้แก่ Wuling (ในประเทศอินโดนีเซีย) ตามมาด้วย วอลโว่ และบีเอ็มดับเบิลยู
สำหรับยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนี้ คิดเป็น 2% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดเท่านั้น โดยทิศทางต่อไปในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีผู้ผลิตรถยนต์หลายค่าย เตรียมการสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียนกันอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากนโยบายการสนับสนุนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในหลายๆ ประเทศ ซึ่งมีทั้งการให้สิทธิพิเศษทางภาษีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย อีกทั้งยังมีเงินสนับสนุนให้ด้วย ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย
สำหรับภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ถือว่ากำลังเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากนโยบายของภาครัฐที่ให้การสนับสนุนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งเรื่องของเงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ สิทธิพิเศษทางภาษี ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยมีราคาที่เข้าถึงได้ง่าย ประกอบกับการผลักดันของภาครัฐที่สนับสนุนให้บริษัทรถยนต์จากต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทยด้วย ทำให้มีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เช่น บีวายดี, เกรท วอลล์ มอเตอร์, เอ็มจี, เนต้า, เมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู, วอลโว่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าต่างชาติที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า FTA ไทย-จีน ส่งผลให้สามารถทำราคารถยนต์เข้าถึงได้ง่ายเป็นพิเศษ ซึ่งนั่นคือ เทสล่า แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก สัญชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีโรงงานประกอบรถยนต์อยู่ในประเทศจีน จึงได้รับสิทธิประโยชน์ไปโดยปริยาย โดย เทสล่า ประเทศไทย เปิดราคาวางจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model 3 เริ่มต้นเพียง 1,759,000 บาท ใกล้เคียงกับราคาจำหน่ายในต่างประเทศ ส่งผลให้ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี จนกวาดยอดจองได้หลายพันคันภายในเวลาไม่กี่วัน
ส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในประเทศไทยตอนนี้ นำโดยแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนทั้งสิ้น ได้แก่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ด้วยรุ่น ORA Good Cat, บีวายดี ด้วยรุ่น ATTO 3, เอ็มจี ด้วยรุ่น EP, ZS EV, MG 4 รวมไปถึงแบรนด์น้องใหม่จากจีน อย่าง เนต้า ส่งรถรุ่นแรกมาขายด้วย NETA V
โดยสาเหตุที่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้รับความนิยมสูง เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่มีการปรับราคาน้ำมันสูงขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายๆ คนที่กำลังจะเปลี่ยนรถยนต์ หรือซื้อรถยนต์คันใหม่ พิจารณารถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการใช้งานถูกกว่ารถยนต์สันดาปดั้งเดิมเกินครึ่ง