“BMW” ครองตลาด ครึ่งปี “พรีเมียมคาร์”
ภาพรวมของอุตสาหกรรมในประเทศหลังผ่านครึ่งปี ยังคงอยู่ในทิศทางที่หดตัว หากเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า รวมถึงในตลาดพรีเมียมคาร์ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน มียอดจดทะเบียนลดลงกว่า 23% โดยบีเอ็มดับเบิลยูยังคงครองสัดส่วนมากที่สุด ขณะที่วอลโว่และเลกซัส ควงคู่เติบโตสวนทางตลาด
ด้วยปัจจัยหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่โดนพิษเศรษฐกิจเล่นงานอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ส่งผลให้ภาพรวมของตลาดปิดตัวเลขครึ่งปีแรกที่ 307,995 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ากว่า 25%
ไม่เว้นแม้ตลาดรถหรูที่ปิดยอดจดทะเบียนหลังผ่าน 6 เดือนแรกของปี จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 16,000 คัน เดินไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของตลาด ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ากว่า 23% ซึ่งแต่ละแบรนด์ล้วนได้รับผลกระทบ มีเพียงวอลโว่และเลกซัส ที่มียอดจดทะเบียนเติบโตสวนทางตลาด
โดยบีเอ็มดับเบิลยูยังคงครองสัดส่วนมากที่สุดในตลาด กว่า 35% ด้วยยอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 6,618 คัน ลดลง 699 คัน ราว 9.5% รองลงมาได้แก่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ จำนวนทั้งสิ้น 5,144 คัน ครองสัดส่วน 27% ลดลงจากปีก่อนหน้า มากกว่า 2,500 คัน
ถัดมาได้แก่ วอลโว่ เป็นหนึ่งในค่ายที่มียอดจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนทั้งสิ้น 2,057 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 4.7% ครองส่วนแบ่งมากกว่า 10% ตามด้วย ปอร์เช่ จำนวน 856 คัน ลดลง 3.2% ครองแชร์ 4.5% รวมถึง มินิ ที่ครองส่วนแบ่งกว่า 4% ด้วยยอดจดทะเบียน 738 คัน ลดลง 3.7%
ขณะที่เลกซัส เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เติบโตก้าวกระโดดกว่าเท่าตัว ด้วยยอดจดทะเบียน 678 คัน เติบโตมากกว่า 99% ครองแชร์ 3.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ปิดท้ายด้วยอาวดี้ มียอดจดทะเบียน 507 คัน ลดลงกว่า 29% ครองสัดส่วน 2.7%
จากทิศทางดังกล่าว ส่งผลให้แต่ละค่ายต้องขยับตัว เสริมทัพด้วยรถรุ่นใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ภายใต้ราคาที่จับต้องได้ง่ายยิ่งขึ้น ในช่วงเวลาที่สงครามราคาของค่ายผู้ผลิตสัญชาติจีนขับเคี่ยวกันอย่างหนัก ที่เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่สร้างความลังเลใจให้กับผู้บริโภค
การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย รวมถึงในภูมิภาค เป็นหนึ่งในแนวทางที่หลายค่ายเลือกใช้ ส่งผลให้สามารถทำราคาได้ดียิ่งขึ้น กระตุ้นการตัดสินใจจับจองเป็นเจ้าของจากผู้บริโภค สร้างโอกาสเก็บเกี่ยวยอดขายในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ดี ยังขึ้นอยู่กับทิศทางของเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ในช่วงเวลาที่หลายฝ่ายมองว่าน่าจะเป็นอีกปีที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย