อุตฯ ยานยนต์ไทยครึ่งปี 65 พลิกยอด ‘ขาย-ผลิต’ เติบโต
ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยครึ่งแรกของปี 2565 กลับมาเร่งเครื่องเติบโตอีกครั้ง หลังจากที่ติดลบมาตั้งแต่ปี 2019 จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน มียอดปริมาณการขาย 427,303 คัน เพิ่มขึ้น 14.5%
รายงานสถิติการขายรถยนต์ครึ่งแรกของปี 2565 อยู่ที่ 427,303 คัน เพิ่มขึ้น 14.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 135,900 คัน เพิ่มขึ้น 12.9% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 291,403 คัน เพิ่มขึ้น 15.3% ขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์ 291,403 คัน เพิ่มขึ้น 15.3% รถกระบะขนาด 1 ตัน (รวมรถ PPV) มีจำนวน 227,842 คัน เพิ่มขึ้น 15.7% และรถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถ PPV) 198,256 คัน เพิ่มขึ้น 17.3% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
โดยมีประเด็นสำคัญตรงที่ ช่วงที่ผ่านมายังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศที่อยู่ในภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลโดยตรงต่อยอดการผลิตและต้นทุนการผลิตรถยนต์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและการส่งออก รวมทั้งแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังปรับตัวสูงขึ้นและทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้กำลังการซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม
อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยบวกจากการที่ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการดำเนินมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงสัดส่วนของการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เกือบเป็นปกติ ล้วนเป็นส่วนช่วยให้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสะท้อนมายังตลาดรถยนต์ด้วยเช่นกัน เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์จากงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 ที่ผ่านมา ตลอดจนแรงกระตุ้นจูงใจผู้บริโภคด้วยแคมเปญการขายเชิงรุกของบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย ล้วนมีส่วนผลักดันตลาดรถยนต์โดยรวมให้ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในส่วนของยอดผลิตรถยนต์เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 870,109 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 ร้อยละ 3.02 ขณะที่ยอดผลิตในเดือนมิถุนายน 2565 มีทั้งสิ้น 143,016 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 6.53 โดยยอดผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการผลิตเพื่อขายในประเทศที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.69 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 50.35 ของยอดการผลิต และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2565 ร้อยละ 10.67
ขณะภาพรวมการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 449,644 คัน ลดลงจากปี 2564 ในระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 5.04 และมีมูลค่าการส่งออก 266,654.08 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 ร้อยละ 1.50
ส่วนยอดตัวเลขการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2565 ส่งออกได้ 73,887 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 11 ทั้งนี้ เนื่องจากการขาดชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้ผลิตรถยนต์นั่งและรถ PPV ลดลงจากเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว ร้อยละ 53.52 และ 34.51 ตามลำดับ ส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ มูลค่าการส่งออก 42,781.17 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 13.18
นอกเหนือจากยอดผลิตรถยนต์ ยอดขาย และยอดส่งออก สภาอุตสาหกรรมฯ ยังได้รายงานตัวเลขที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในส่วนของการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ที่ตัวเลขพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 7,325 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-มิถุนายน ปีที่แล้ว ร้อยละ 169.40 โดยแบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถกระบะมีทั้งสิ้น 3,041 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 ร้อยละ 234.91
จากสถานการณ์ต่างๆ ที่กลับเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติและมาตรการผ่อนคลายและการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และจะส่งผลบวกต่อทิศทางของตลาดรถยนต์ ปีนี้เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะสามารถฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เลยคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2565 จะอยู่ที่ 880,000 คัน เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา