“มาสด้า” ปรับกลยุทธ์ รับทิศทางตลาดรถปี 65
มาสด้า ปรับกลยุทธ์รับการเติบโตของตลาดรถยนต์ปี 2565 ประกาศรุกแผนรุกตลาดรถยนต์มือสอง MAZDA CPO พร้อมเสริมความแข็งแกร่งในด้านเครือข่ายผู้จำหน่าย เพิ่มโชว์รูม ขยายศูนย์ซ่อมตัวถังและสี ให้ครอบคลุม พร้อมอัปเกรดงานบริการด้วยรูปแบบ Mazda Fast Service 3 แห่ง เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าที่เข้ารับการบริการได้อย่างรวดเร็ว
นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์ในปีนี้ แม้ว่าตลาดรถยนต์โดยรวมจะดูเติบโต และยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกที่เด่นชัด รวมถึงยังมีปัจจัยลบที่อยู่นอกเหนือการควบคุมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความตึงเครียดในยุโรป ภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินบาทที่ผันผวน ความหวาดหวั่นต่อการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ปัญหาของระบบขนส่ง โลจิสติกส์ทั่วโลก และการขาดแคลนชิ้นส่วนที่เกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกัน แต่การที่ประชาชนได้รับวัคซีน การที่รัฐตั้งเป้าหมายการปรับให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้น
ส่วนเป้าหมายการขยายตัวของมาสด้าไม่ได้เป็นผลมาจากภาพรวมตลาดรถยนต์มองว่าจะเติบโตเท่านั้น แต่จะต้องมาจากแนวทางการดำเนินการของบริษัทด้วย ซึ่งการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น มาสด้า จึงได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ให้มีการเติบโตแบบยั่งยืน
โดยในปีนี้ มาสด้า ได้ปรับแผนเตรียมรุกธุรกิจรถมือสอง ภายใต้ชื่อ MAZDA CPO (Certified Pre-Owned) เพื่อนำเสนอรถยนต์ใช้แล้วคุณภาพดีให้กับลูกค้า เป็นช่องทางให้ลูกค้านำรถเก่ามาเทรด-อิน กระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำ หรือซื้อเพิ่มเติม ภายใต้กลยุทธ์ Trade Cycle Management ซึ่งลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุดจากการครอบครองรถยนต์มาสด้าที่ผ่านการตรวจสอบอุปกรณ์และชิ้นส่วนกว่า 100 รายการ ผ่านมาตรฐานและการรับรองจากมาสด้า เซลส์ ประเทศไทย
ทั้งนี้ MAZDA CPO ยังจะช่วยยกระดับมูลค่ารถมาสด้ามือสองในตลาด ซึ่งจะทำให้แบรนด์มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และนำไปสู่ความเชื่อมั่นที่จะซื้อรถใหม่ป้ายแดงอีกด้วย รวมถึงยังเป็นการช่วยให้ตัวแทนจำหน่ายมีช่องทางสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยปัจจุบัน MAZDA CPO เปิดดำเนินการแล้ว 9 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 18 แห่งในปีนี้ 38 แห่ง ภายในปี 2568
ในส่วนของเครือข่ายผู้จำหน่าย ปีนี้ มาสด้า ได้ปรับแผนยกระดับเพื่อรองรับปริมาณลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งการขยายโชว์รูมและศูนย์บริการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จากปัจจุบันมี 139 แห่ง รวมถึงการปรับฟังก์ชันต่างๆ ให้รองรับการบริการแบบครบวงจร เช่น การขยายศูนย์ซ่อมตัวถังและสี จากปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 54 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น 58 แห่ง ซึ่งเป้าหมายหลักของมาสด้าคือ ต้องการให้ตัวแทนจำหน่ายทุกราย เปิดบริการนี้ แต่ละรายที่มีหลายสาขา ไม่จำเป็นต้องเปิดครบทุกสาขา
นอกจากนี้ ช่องการให้บริการตรวจเช็กตามระยะแบบเร่งด่วน ภายใน 60 นาที หรือ Mazda Fast Track ที่เปิดบริการก่อนหน้านี้และได้รับการตอบรับที่ดี ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 34 แห่ง โดยเน้นในศูนย์บริการที่มีประชากรรถยนต์มาสด้าหนาแน่น และ Mazda Fast Service หรือ Mazda Satellite Service ซึ่งเป็นการให้บริการตรวจเช็กตามระยะแบบเร่งด่วนภายใน 30 นาที ก็จะเปิดให้ครบ 3 แห่ง
ในส่วนของแผนการตลาด มาสด้า ได้เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นด้วยการปรับใช้กลยุทธ์การตลาดในรูปแบบดิจิทัล Use of Digital Platform เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและกว้างขึ้น โดยวางเป้าหมายการทำตลาดแบบ Fan-Based Marketing แบบ One-to-One Communication หรือการให้บริการแบบ 1:1 ซึ่งจะเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้มาก รวมถึงยังสามารถนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากลูกค้ากลับมาใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อพัฒนากลยุทธ์ด้านต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด